วันจันทร์ที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๐

วัดเฉลิมกาญจนาภิเษก(วัดโพธิ์หอม)



วัดเฉลิมกาญจนาภิเษก ( วัดโพธิ์หอม ) ตั้งอยู่ที่ตำบลราชสถิตย์ อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง เป็นวัดหนึ่งในสมัยตอนต้นของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีอายุมานานจนถึงปัจจุบันนี้ประมาณ 500 ปี ตามข้อสันนิษฐานจากวัตถุโบราณและร่องรอยต่าง ๆ ของบริเวณวัดนี้แล้ว ผู้เชี่ยวชาญทางโบราณคดีแห่งกรมศิลปากรได้ลงความเห็นชัดแล้วว่า วัดโพธิ์หอมนี้เป็นวัดฝ่ายอรัญญวาสี ทำนองเดียวกับวัดป่าแก้วในกรุงศรีอยุธยา และเป็นวัดที่มีลักษณะใหญ่โตมากมาแล้วในอดีต วัดโพธิ์หอมนี้ จะต้องเป็นวัดที่พระมหากษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ได้ทรงสร้างขึ้นอย่างแน่นอน เพราะบริเวณสถานที่ของวัดอันรกร้างอยู่ มีซากวัตถุโบราณปรากฎให้เห็นเด่นชัดมาก ดังจะเห็นได้ว่าขอบเขตของพระอุโบสถก็ดี ซากวิหารและเจดีย์ก็ดี ล้วนแล้วแต่มีลักษณะบริเวณกว้างขวางมาก ยิ่งกว่านั้นยังปรากฎให้เห็นร่องรอยว่า ตัวอาคารของอุโบสถและวิหารมีลักษณะใหญ่โต เหมาะที่จะใช้เป็นประโยชน์ได้หลายประการ เช่น ใช้เป็นศาลาการเปรียญก็ได้ หอฉัน หอนั่ง หรือศาลาบาตร ตลอดจนใช้เป็นที่อยู่อาศัยได้ทั้งนั้น นอกจากนี้ยังมีพระเจดีย์ตั้งอยู่ทางด้านหลังของอาคารอันเป็นโบสถ์และวิหารอีกด้วย คุณลักษณะเช่นนี้ เป็นลักษณะของพุทธศิลปะในสมัยสุโขทัยเชียงแสนผสมกัน ซึ่งต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาประมาณปี พ . ศ . ๑๙๖๗ ได้นำเอาลักษณะดังกล่าวมา สร้างอุโบสถให้มีลักษณะใหญ่โต และใช้ประโยชน์ได้มากดังกล่าวข้างต้น
การสันนิษฐานของนักโบราณคดีผู้เชี่ยวชาญแห่งกรมศิลปากร ยังมีหลักฐานอื่นที่นำมาสนับสนุนอีกมากมาย อาทิ อิฐ กระเบื้อง ลวดลายเชิงชาย พระเครื่องที่ขุดพบ พัทธสีมาอุโบสถ ( ใบสีมา ) เศียรพระพรหมสี่หน้า ฯลฯ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นหลักฐานยืนยันได้ว่า วัดโพธิ์หอมนี้จะต้องเป็น วัดที่สำคัญและมีลักษณะใหญ่โตมาก่อน และจะต้องเป็นวัดที่สร้างโดยพระมหากษัตริย์เท่านั้น ลำพังประชาชนธรรมดาแล้วคง ไม่สามารถจะสร้างได้เช่นนี้ เพราะจากซากโบราณที่เหลืออยู่แสดงให้เห็นชัดว่า ศิลปะการสร้างนั้นจะต้องเป็นช่างหลวงจึงจะทำได้งดงามเช่นนี้ การสร้างก็ต้องใช้เวลานานและต้องสิ้นเปลืองเงินทองมาก ยากที่ประชาชนคนธรรมดาจะทำการ ก่อสร้างได้ นอกจากพระมหากษัตริย์ โดยเกณฑ์ช่างหลวงที่มีฝีมือในสมัยนั้น มาทำการก่อสร้าง ซึ่งจะเห็นได้ว่าศิลปะลวดลายของซากโบราณที่หลงเหลืออยู่ มีลวดลายที่งดงามและปราณีตมาก ตัวอย่างเช่น พระเศียรของพระพรหม เป็นสิ่งที่บ่งชัดว่าต้องเป็นฝีมือของช่างหลวงในสมัย ต้นกรุงศรีอยุธยา โดยเฉพาะ ลวดลายกระบังหน้าพระพรหมที่บัวพันยักษ์ เป็นเครื่องบอกชัดว่าต้องเป็นฝีมือ ของช่างหลวงในสมัยต้นกรุงศรีอยุธยาแน่นอน พระเศียรของ พระพรหมนี้มีขนาดใหญ่มากและเป็นเศียรพระพรหมที่ตั้งอยู่บนยอดมณฑป หรือปราสาท หรืออาจจะเป็นซุ้มประตูเรือนยอดที่มีเศียรพระพรหมทั้ง ๔ หน้า

0 ความคิดเห็น: