วันจันทร์ที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๐

วัดไทรย์นิโครธาราม






วัดไทรย์นิโครธาราม ตั้งอยู่ที่บ้านไทร หมู่ที่ ๔ ตำบลจรเข้ร้อง อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ ๓๒ ไร่ ๓ งาน ๔ ตารางวา วัดไทรย์นิโครธาราม ตามประวัติวัดกล่าวว่าสร้างขึ้นนับเป็นวัดตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีเมื่อประมาณ พ।ศ. ๑๙๕๐ ชาวบ้านเรียกกันว่า “วัดไทร” ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๕ พื้นที่วัดเป็นที่ราบ อาคารเสนาสนะมีพระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ หอสวดมนต์ กุฎิสงฆ์ หอระฆัง สำหรับปูชนียวัตถุที่สำคัญได้แก่ พระประธานในอุโบสถ



เนื่องจากพระประธานมีสภาพชำรุด มีรอยแตกขององค์พระประธาน และมีปลวกขึ้นด้านหลังของพระประธาน ในฐานะรักษาการเจ้าอาวาสวัดไทรย์นิโครธารามร่วมกับ คณะกรรมการวัดได้จ้างเหมาช่างภายในท้องถิ่น ดำเนินการบูรณะซ่อมแซมพระประธานในอุโบสถและทำฐานของพระประธานใหม่ เพื่อให้เหมาะสมกับขนาดขององค์พระประธาน เมื่อดำเนินการสกัดกั้นปูนซีเมนต์ที่ร้าวออก พบว่าพระประธานเป็นพระพุทธรูปหินทราย แต่ได้ทำการฉาบปูนซีเมนต์และทาสีน้ำมันสีทองปิดทับ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการแตกร้าว และเปื่อยยุ่ยของปูนซีเมนต์ที่องค์พระประธานหินทราย เนื่องจากไม่สามารถระบายความชื้นออกได้ ช่างจึงได้ดำเนินการสกัดปูนซีเมนต์ออก โดยการสกัดบริเวณพระวรกาย และบริเวณฐานของพระประธานขุดพบในวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๔๗ ขณะที่ช่างทำการสกัดปูนซีเมนต์บริเวณฐาน พระประธานด้านหลัง ได้พบพระพุทธรูปจำนวนหนึ่งบรรจุอยู่ภายในฐานพระประธาน วัดไทรย์นิโครธารามได้นำออกมาเก็บรักษาไว้ภายในห้องบนกุฏิ เพื่อป้องกันการสูญหายหรือโจรกรรม



ในวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๗ รักษาการเจ้าอาวาสวัดไทรย์นิโครธาราม ได้แจ้งเรื่องการพบพระพุทธรูปดังกล่าวให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจันทรเกษม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นหน่วยงานในส่วนภูมิภาคของสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งมีหน้าที่ดูแลและปฏิบัติงานที่เกี่ยวกับโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุในเขตพื้นที่รับผิดชอบ คือ จังหวัดอ่างทอง



ในวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๔๗ เจ้าหน้าที่ของ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจันเกษม จึงได้เดินทางมาตรวจสอบพบว่า พระพุทธรูปที่พบเป็นพระพุทธรูปสำริดขนาดต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นพระชัยมงคล เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิปางมารวิชัยและพระพุทธรูปยืน (ชำรุด) มีพุทธลักษณะแบบเดียวกับพุทธรูปในสมัยอยุธยาและพระพุทธรูปบางส่วนมีดินติดอยู่หนาแน่น ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นพระพุทธรูปสมัยใดบ้าง มีพระพุทธรูปทั้งสิ้นจำนวน ๒๒๐ ชิ้น แยกเป็นพระพุทธรูปที่สมบูรณ์ ประมาณ ๑๒๖ องค์ และชำรุด ประมาณ ๙๔ รายการ ซึ่งปัจจุบันพระพุทธรูปดังกล่าวได้เก็บรักษาไว้ในห้องภายในกุฏิเจ้าอาวาส โดย ได้จัดตั้งคณะกรรมการเป็นผู้ดูแลการเปิดและปิดห้องที่เก็บรักษาพระพุทธรูปดังกล่าว เพื่อเป็นการป้องกันรักษาความปลอดภัยของโบราณวัตถุ



0 ความคิดเห็น: