วัดขุนอินทประมูล

พระพุทธไสยาสน์เก่แก่ขนาดใหญ่ มีความยาว 50 เมตร

วัดขุนอินทประมูล

โบสถ์ไฮเทค ภายในประกอบด้วยบรรไดเลื่อและลิฟต์ พร้อมทั้งมีจตกรรมฝาผนังที่สวยงาม

วัดขุนอินทประมูล

พระประธานภายในพระอุโบสถ

วัดขุนอินทประมูล

ช่างกำลังวาดจิตกรรมฝาผนังของพระอุโบสถ ซึ่งเราสามารถนำภาพของเราวาดติดผนังได้

วัดขุนอินทประมูล

วิหารเก่าซึ่งภายในมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่

วันพุธที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๐

งานเททองหล่อพระศรีอริยเมตไตรย์

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 หลวงปู่ครูบาศรีเทพ ปัญญาวชิโร ได้กำหนดการเททองหล่อพระศรีอริยเมตไตรย์ พระอุปคุต พระบัวเข็ม ขึ้นที่วัดมหาดไทย ต.มหาดไทย อ.เมือง จ.อ่างทอง ในงานครั้งนี้ได้มีผู้ร่วมงานเป็นจำนวนมาก

วันจันทร์ที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๐

วัดป่าโมกวรวิหาร






วัดป่าโมกวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร ชาวบ้านเรียกว่าวัดใต้ท้่ายตลาด ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งอยู่ที่ เลขที่ ๑/ง ถนนป่าโมกราษฎร์บำรุง ตำบลป่าโมก อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง เป็นวัดมหานิกายอยู่ในเขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลป่าโมก อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง ภาค ๒
พื้นที่และอาณาเขตวัดที่ดินที่ตั้งวัดป่าโมกวรวิหารเป็นที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มีพื้นที่ตั้งวัดจำนวน ๗๖ ไร่ ๖๐ ตารางวา มีอาณาเขตดังนี้ ทิศเหนือ จดที่ดินจดที่ดินราษฎรหมู่บ้านเอกหลาด ยาว ๔๑๐ เมตรทิศใต้ จดถนนไปหมู่บ้านหัวกระบือและที่ดินราษฎร ยาว ๔๐๐ เมตรทิศตะวันออก จดแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ยาว ๔๐๐ เมตรทิศตะวันตก จดคันคลองส่งน้ำชลประทานป่าโมก - ผักไห่ ยาว ๔๓๖ เมตร
ประวัติวัดป่าโมกวรวิหารวัดป่าโมกวรวิหาร เป็นวัดโบราณไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง ในพงศวดารเหนือ กล่าวไว้ว่าสร้างในสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี
พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา รัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระกล่าวว่า"ลุศักราชได้ ๑๐๘๗ ปีมะเส็ง สัปตศก เจ้าอธิการวัดป่าโมกเข้ามาหาพระยาราชสงคราม แจ้งความว่า พระพุทธไสยาสน์วัดป่านั้นน้ำกัดเซาะตลิ่งพัง เข้ามาถึงพระวิหารแล้ว ยังอีกประมาณสักปีหนึ่ง พระพุทธไสยาสน์เห็นจะพังลงน้ำเสียแล้ว พระยาราชสงครามได้ฟังดังนั้นจึงเข้าไปกราบทูลพระกรุณาให้ ทราบเหตุแห่งพระพุทธไสยาสน์นั้นทุกประการ พระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบดังนั้น จึงปรึกษาด้วยข้าราชการทั้งปวง มีเสนาบดีเป็นอาทิ ว่าจะรื้อพระพุทธไส- ยาสน์ไปก่อเอาใหม่จะดีหรือๆ จะชลอลากได้ จึงกลับมากราบทูลพระกรุณาว่า ข้าพระพุทธเจ้าของอาสาชลอลากพระพุทธไสยาสน์ให้ถึงที่อันควรให้จงได้ สมเด็จพระมหาอุปราชเฝ้าอยู่ที่นั้นด้วย ได้ทรงฟังดังนั้นไม่เห็นด้วยจึงตรัสว่าพระพุทธไสยาสน์นั้นพระองค์โตใหญ่นัก เห็นควรชลอลากไม่ได้กลัวจะแตก จะพัง เป็นการใหญ่มิใช่ของหล่อ ถ้าไม่มีอันตรายก็จะดีอยู่ ถ้ามีอันตรายแตกหักพังทลาย จะอายอัปยศแก่ไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ อำมาตย์เสนาข้าราชการ เสียพระเกียรติยศ จะลือชาปรากฏในอนาคตเป็นอันมาก ถ้าเราไปรื้อก่อใหม่ให้ดีงามกว่าเก่าเห็นจะง่ายดีอีก พระยาราชสงครามจึงกราบทูลพระกรุณาว่า ข้าพระพุทธเจ้าขออาสาชลอลากพระพุทธไสยาสน์มิให้แตกพังไปเป็นปกติถึงที่ใหม่อันสมควรให้จงได้ ถ้าและเป็นอันตรายขอถวายชีวิต สมเด็จพระเจ้า แผ่นดินก็ยังไม่วางพระทัย จึงดำรัสตรัสให้นิมนต์พระราชาคณะมาประชุมแล้วตรัสว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าทั้งปวง เราจะรื้อพระพุทธไสยาสน์ก่อใหม่ไว้ในที่ อันควร จะควรหรือมิควร พระบาลีจะมีประการใดบ้าง พระราชาคณะทั้งปวงถวายพระพรว่า พระองค์ไม่แตกหักพังวิปริตเป็นปกติดีอยู่นั้นจะรื้อไปก่อใหม่ไม่ ควร พระเจ้าแผ่นดินได้ทราบดังนั้น จึงตรัสสั่งให้พระยาราชสงครามคิดกระทำการชลอลากพระพุทธไสยาสน์นั้นลุศักราช ๑๐๘๘ ปีมะเมีย อัฐศก สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินเสด็จไปวัดป่าโมก ให้รื้อพระวิหารแล้วให้ตั้งตำหนักพลับพลาชัยใกล้วัดชีปะขาว ยับยั้งรั้ง แรม ๖ วันบ้าง ๗ วันบ้าง กับด้วยพระอนุชาธิราชกลับไปกลับมาให้กระทำการอยู่ ๓ วันบ้าง ๔ วันบ้าง แล้วกลับมาพระนคร พระยาราชสงครามเกณฑ์ให้ ข้าราชการไปตัดไม้ยางยาว ๑๔ วา ๑๕ วา หน้าใหญ่ศอกคืบบ้าง ให้ได้มากทำตะเฆ่สะดึงให้เลื่อยเป็นตัวไม้หน้าใหญ่ศอกหนึ่งหน้าน้อยคืบหนึ่งเป็นอันมาก ให้เอาเสาไม้ยาง ๓ กำ ๓ วา กลึงเป็นกง เลื่อกระดานหน้า ๒ นิ้ว จะปูพื้นทางจะลากตะเข้ไปนั้นให้ปราบให้เสมอทุบตีด้วยตะลุมพุกให้ราบเสมอให้ฝั่นเชือก น้อยใหญ่เป็นอันมาก แล้วให้เจาะฐานแท่นพระเจ้านั้นช่องกว้าศอกหนึ่ง เว้นไ้ว้ศอกหนึ่ง ช่องสูงคืบหนึ่ง เว้นไว้เป็นฟันปลาเอาตะเข้แอบเข้าทั้งสองข้าง ร้อยไม้ขวางทางที่แม่สะดึง แล้วสอดกะรดานหน้าคืบหนึ่งนั้นบนหลังตะเฆ่ ตลอดช่องแล้วจะขุดรื้ออิฐหว่างช่องกระดานที่เว้น ไว้เป็นฟันปลานั้นออกเสีย เอากระดานหน้านั้นสอดให้เต็มทุกช่อง และการผูกรัดร้อยรึงกระดึงทั้งปวงให้มั่นคงบริบูรณ์ ๕ เดือนสำเร็จแล้วทุกประการ ครั้นได้ศุภวารดิถีเพลาพิชัย มงคลฤกษ์ดีแล้ว ให้ชะลอลากตะเฆ่ที่ทรงพระพุทธไสยาสน์เข้าที่ อันจะกระทำพระวิหารนั้นได้สำเร็จบริบูรณ์ จึงทรงพระกรุณาโปรดให้พระยาราชสงคราม เลื่อนที่เป็นสมุหนายก สมเด็จพระมหากษัตริย์ให้ทำพระวิหารการเปรียญ โรงพระอุโอสถ พระเจดีย์ กุฎี ศาลา กำแพงและหอไตรฉนวน ๔๐ ห้อง หลังคา มุงกระเบื้อง และส้วมฐานสะพาน บันได ๕ ปีเศษจึงแล้ว ยังไม่ได้ฉลอง" สมเด็จพระเจ้าท้ายสระประชวรสวรรคต
ต่อมาเมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมโกศได้ครองราชสมบัติ จึงโปรดให้ฉลองวัดป่าโมก ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า"ลุศักราช ๑๐๙๖ ปีขาล ฉศก พระบาทสมเด็จพระบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว จึงมีพระราชดำรัสตรัสสั่งท้าวพระยามุขมนตรีทั้งหลายว่า วัดปาก โมกนั้นการทั้งปวงเสร็จบริบูรณ์แล้ว ให้จัดการฉลองและเครื่องสักการบูชาไว้ให้พร้อมสรรพ ครั้นถึงวิสาขมาสศุกลปักษ์ดฤถีพิชัยฤกษ์ สมเด็จพระพุทธเจ้า อยู่หัวก็เสด็จทรงเรือพระที่นั่งไกรสรมุขพิมาน อันอลังการด้วยเครื่องอภิรุมรัตนฉัตรชุมสาย บังแทรกสลอนสลับประดับด้วยเรือศีรษะสัตว์ดั้งสรรพอเนกนา วา ท้าวพระยาข้าทูลละอองทุลีพระบาท โดยเสด็จพระราชดำเนินแห่แหนตามกระบวนพยุหยาตราหน้าหลังเป็นแน่นขนัด เดียรดาษแดนอรรณพนธาร บรรลุ พลับพลาชัย ณ วัดชีปะขาว เสด็จขึ้นแท่นประทับในที่นั้นแล้ว เสด็จทรงพระราชยานดำเนินโดยสถลมารคถึงวักปากโมก ให้มีงานฉลอง พระสงฆ์สามร้อย รูปสวดพระพุทธมนต์ และรับพระราชทานฉัน ๓ วันแล้วทรงถวายไทยทาน ให้เล่นการมหรสพต่างๆ ถวายพุทธสมโภชครบตติวาร ณ ทุ่งนางฟ้าริมพระอา ราม ในวันเป็นที่สุดนั้นให้มีช้าบำรูกัน เพลาเย็นเกิดพายุใหญ่พัดโรงร้านและโรงทานหักล้มทำลายเป็นมหัศจรรย์ ครั้นเสร็จการสมโภชแล้ว ก็เสด็จโดยนาวา พยุหคืนเข้าพระมหานคร"
ในสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๖ รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไ้ด้พระราชทานเงินแก่พระปลัดอิน เจ้าอาวาสวัดป่าโมก นำไป ปฏิสังขรณ์วัดป่าโมก เสร็จแล้วพระราชทานสมณศักดิ์พระปลัดอิน เป็นพระครูป่าโมกข์มุนี เสด็จฯมาถวายพระกฐินโดยเรือพระที่นั่งกลไฟ และทรงพระ กรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถานาวัดป่าโมกขึ้นเป็นพระอารามหลวง ชั้นโท ชนิดวรวิหารพ.ศ. ๒๔๒๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งเสด็จประพาสมณฑลอยุธยา ได้เสด็จวัดไชโย อำเภอไชโย วัดขุนอินทประมูล อำเภอ โพธิ์ทอง และวัดป่าโมก อำเภอป่าโมก ทรงนมัสการพระพุทธไสยาสน์พ.ศ. ๒๔๒๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดป่าโมกวรวิหาร และทรงนมัสการพระพุทธไสยาสน์พ.ศ. ๒๔๔๔ วันที่ ๕ พฤศจิกายน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ คราวเสด็จพระราชดำเนินตรวจราชการหัวเมืองฝ่าย เหนือ ได้เสด็จทรงนมัสการพระพุทธไสยาสน์ ณ วัดป่าโมกวรวิหาร และทรงเห็นเบื้องหลังขององค์พระพุทธไสยาสน์มีรอยกรอบ เข้าใจว่าคงจะเป็นแผ่น ศิลาจารึกประวัติพระพุทธรูปนี้ไว้ แต่แผ่นศิลาจารึกได้หายไป น่าเสียดาย ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชา นุภาพเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ให้เอาใจใส่สืบประวัติองค์พระพุทธไสยาสน์มาให้ได้ ต่อมาพระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชคุปต์) อุปราชมณฑล กรุงเก่า ได้พบหนังสือคำโคลงกล่าวถึงการชะลอ พระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมก จำนวน ๖๙ บท และในบทที่ ๖๙ ระบุว่า ผู้แต่งคือสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ขณะดำรงพระยศเป็นพระราชวังบวร จึงนำขึ้นถวายสมเด็จในกรมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยพ.ศ. ๒๔๔๙ ในการเสด็จประพาสต้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้สด็จฯ วัดป่าโมก ทรงฉายพระบรมรูปและนมัสการพระพุทธไส ยาสน์พ.ศ. ๒๔๖๐ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงนำศิลาจารึกโครงชลอพระพุทธไสยาสน์ จำนวน ๖๘ บท ซึ่งเป็นพระ ราชนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ขฯะดำรงพระยศเป็นเจ้ากรมพระราชวังบวร ไปประดิษฐานไว้ ณ เบื้องหลังพระพุทธไสยาสน์ วัดป่าโมกวรวิหาร จนกระ ทั่งถึงทุกวันนี้พ.ศ. ๒๔๙๘ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จทรงนมัสการสมเด็จ พระพุทธไสยาสน์ วัดป่าโมกวรวิหาร โดยทางเรือพ.ศ. ๒๕๑๙ วันที่ ๒๒ เมษายน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯ ทรงนมัสการพระพุทธไสยาสน์ วัดป่าโมกวรวิหารพ.ศ. ๒๕๑๙ วันที่ ๒๘ เมษายน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัคราชกุมารี ได้เสด็จฯ ทรงนมัสการกรพพุทธไสยาสน์ วัดป่าโมกวรวิหาร โดยรถยนต์พระที่นั่ง ได้พระราชทานยาสามัญประจำบ้านและปัจจัยจำนวน ๒๐,๐๐๐.๐๐ บาท (สองหมื่นบาทถ้าน) แก่พระราชสังวรวิ สุทธิ์ (แช่ม กิมพโล) เจ้าอาวาส เพื่อบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะต่างๆ ในพระอาราม พระราชสังวรวิสุทธิ์ได้ถวายพระพิมพ์สมเด็จรุ่นสร้างเขื่อนหน้าวัดป่าโมก วรวิหาร จำนวน ๑๐๐ องค์ และพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม กรุงเทพมหานคร ๑ องค์ ฝากถวายสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

วัดเยื้องคงคาราม


วัดเยื้องคงคาราม ตั้งอยู่เลขที่ 31 บ้านเยื้องคงคา หมู่ที่ 1 ตำบลเทวราช อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ 38 ไร่ 2 งาน 40 ตารางวา พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบ อาคารเสนาสนะต่าง ๆ มี อุโบสถกว้าง 7 เมตร ยาว 20 เมตร สร้าง พ . ศ . 2509 โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก ศาลาการเปรียญกว้าง 10 เมตร ยาว 20 เมตร เป็นอาคารไม้ วิหารกว้าง 10 เมตร ยาว 10 เมตร เป็นอาคารคอนกรีต กุฎิสงฆ์ จำนวน 7 หลัง เป็นอาคารไม้ นอกจากนี้มี หอสวดมนต์ หอไตร หอระฆัง และฌาปนสถาน สำหรับปูชนียวัตถุมี พระประธานในอุโบสถ พระเพลากว้าง 4 ศอก สูง 6 ศอก สร้างด้วยหินสีแดง ชาวบ้านเรียก “ หลวงพ่อหิน ” เดิมประดิษฐาน อยู่ในที่ดินใกล้วัดสุขเกษม พระป่าเลไลยก์ ประดิษฐานอยู่ในวิหาร พระเพลากว้าง 3 ศอก สูง 4 วา 2 ศอก เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นมีอายุกว่า 100 ปี

วัดสระเกษ



วัดสระเกษ ตั้งอยู่เลขที่ 53 บ้านสระเกษ หมู่ที่ 7 ตำบลไชยภูมิ อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง สังกัดคณะสงฆ์มหานิกายมีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ 4 ไร่ 2 งาน พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบ อาคารเสนาสนะต่างๆ มีอุโบสถกว้าง 8 เมตร ยาว 22।50 เมตร บูรณะ พ.ศ. 2506 โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก ศาลาการเปรียญกว้าง 15 เมตร ยาว 26 เมตร สร้าง พ.ศ. 2519 เป็นอาคารคอนกรีต กุฎิสงฆ์ จำนวน 5 หลัง เป็นอาคารไม้สุสานกว้าง 12 เมตร ยาว 20 เมตร สำหรับปูชนียวัตถุมีพระประธานในอุโบสถ


วัดสระเกษ สร้างขึ้นเป็นวัดนับตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 1892 ก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมมีนามว่า “วัดเสาธงหิน” มีเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สมัย สมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้กรีธาทัพขับไล่ข้าศึกถึงบ้านชะไว และได้ชัยชนะจึงให้ชื่อว่าบ้านไชโย เมื่อขับไล่ข้าศึกไปแล้วได้พักทัพที่วัดเสาธงหินสรงน้ำสระเกษาที่วัดนี้ ต่อมาจึงได้เรียกว่า “วัดสระเกษ” ถือเป็นมงคลนาม วัดสระเกษถือว่าเป็นวัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาแล้ว ประมาณ พ.ศ. 2320 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 10 เมตร ยาว 22.50 เมตร ที่วัดนี้มีโรงเรียนประถมศึกษาของทางราชการตั้งอยู่ด้วย


วัดไทรย์นิโครธาราม






วัดไทรย์นิโครธาราม ตั้งอยู่ที่บ้านไทร หมู่ที่ ๔ ตำบลจรเข้ร้อง อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ ๓๒ ไร่ ๓ งาน ๔ ตารางวา วัดไทรย์นิโครธาราม ตามประวัติวัดกล่าวว่าสร้างขึ้นนับเป็นวัดตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีเมื่อประมาณ พ।ศ. ๑๙๕๐ ชาวบ้านเรียกกันว่า “วัดไทร” ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๕ พื้นที่วัดเป็นที่ราบ อาคารเสนาสนะมีพระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ หอสวดมนต์ กุฎิสงฆ์ หอระฆัง สำหรับปูชนียวัตถุที่สำคัญได้แก่ พระประธานในอุโบสถ



เนื่องจากพระประธานมีสภาพชำรุด มีรอยแตกขององค์พระประธาน และมีปลวกขึ้นด้านหลังของพระประธาน ในฐานะรักษาการเจ้าอาวาสวัดไทรย์นิโครธารามร่วมกับ คณะกรรมการวัดได้จ้างเหมาช่างภายในท้องถิ่น ดำเนินการบูรณะซ่อมแซมพระประธานในอุโบสถและทำฐานของพระประธานใหม่ เพื่อให้เหมาะสมกับขนาดขององค์พระประธาน เมื่อดำเนินการสกัดกั้นปูนซีเมนต์ที่ร้าวออก พบว่าพระประธานเป็นพระพุทธรูปหินทราย แต่ได้ทำการฉาบปูนซีเมนต์และทาสีน้ำมันสีทองปิดทับ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการแตกร้าว และเปื่อยยุ่ยของปูนซีเมนต์ที่องค์พระประธานหินทราย เนื่องจากไม่สามารถระบายความชื้นออกได้ ช่างจึงได้ดำเนินการสกัดปูนซีเมนต์ออก โดยการสกัดบริเวณพระวรกาย และบริเวณฐานของพระประธานขุดพบในวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๔๗ ขณะที่ช่างทำการสกัดปูนซีเมนต์บริเวณฐาน พระประธานด้านหลัง ได้พบพระพุทธรูปจำนวนหนึ่งบรรจุอยู่ภายในฐานพระประธาน วัดไทรย์นิโครธารามได้นำออกมาเก็บรักษาไว้ภายในห้องบนกุฏิ เพื่อป้องกันการสูญหายหรือโจรกรรม



ในวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๗ รักษาการเจ้าอาวาสวัดไทรย์นิโครธาราม ได้แจ้งเรื่องการพบพระพุทธรูปดังกล่าวให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจันทรเกษม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นหน่วยงานในส่วนภูมิภาคของสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งมีหน้าที่ดูแลและปฏิบัติงานที่เกี่ยวกับโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุในเขตพื้นที่รับผิดชอบ คือ จังหวัดอ่างทอง



ในวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๔๗ เจ้าหน้าที่ของ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจันเกษม จึงได้เดินทางมาตรวจสอบพบว่า พระพุทธรูปที่พบเป็นพระพุทธรูปสำริดขนาดต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นพระชัยมงคล เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิปางมารวิชัยและพระพุทธรูปยืน (ชำรุด) มีพุทธลักษณะแบบเดียวกับพุทธรูปในสมัยอยุธยาและพระพุทธรูปบางส่วนมีดินติดอยู่หนาแน่น ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นพระพุทธรูปสมัยใดบ้าง มีพระพุทธรูปทั้งสิ้นจำนวน ๒๒๐ ชิ้น แยกเป็นพระพุทธรูปที่สมบูรณ์ ประมาณ ๑๒๖ องค์ และชำรุด ประมาณ ๙๔ รายการ ซึ่งปัจจุบันพระพุทธรูปดังกล่าวได้เก็บรักษาไว้ในห้องภายในกุฏิเจ้าอาวาส โดย ได้จัดตั้งคณะกรรมการเป็นผู้ดูแลการเปิดและปิดห้องที่เก็บรักษาพระพุทธรูปดังกล่าว เพื่อเป็นการป้องกันรักษาความปลอดภัยของโบราณวัตถุ



วัดเฉลิมกาญจนาภิเษก(วัดโพธิ์หอม)



วัดเฉลิมกาญจนาภิเษก ( วัดโพธิ์หอม ) ตั้งอยู่ที่ตำบลราชสถิตย์ อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง เป็นวัดหนึ่งในสมัยตอนต้นของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีอายุมานานจนถึงปัจจุบันนี้ประมาณ 500 ปี ตามข้อสันนิษฐานจากวัตถุโบราณและร่องรอยต่าง ๆ ของบริเวณวัดนี้แล้ว ผู้เชี่ยวชาญทางโบราณคดีแห่งกรมศิลปากรได้ลงความเห็นชัดแล้วว่า วัดโพธิ์หอมนี้เป็นวัดฝ่ายอรัญญวาสี ทำนองเดียวกับวัดป่าแก้วในกรุงศรีอยุธยา และเป็นวัดที่มีลักษณะใหญ่โตมากมาแล้วในอดีต วัดโพธิ์หอมนี้ จะต้องเป็นวัดที่พระมหากษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ได้ทรงสร้างขึ้นอย่างแน่นอน เพราะบริเวณสถานที่ของวัดอันรกร้างอยู่ มีซากวัตถุโบราณปรากฎให้เห็นเด่นชัดมาก ดังจะเห็นได้ว่าขอบเขตของพระอุโบสถก็ดี ซากวิหารและเจดีย์ก็ดี ล้วนแล้วแต่มีลักษณะบริเวณกว้างขวางมาก ยิ่งกว่านั้นยังปรากฎให้เห็นร่องรอยว่า ตัวอาคารของอุโบสถและวิหารมีลักษณะใหญ่โต เหมาะที่จะใช้เป็นประโยชน์ได้หลายประการ เช่น ใช้เป็นศาลาการเปรียญก็ได้ หอฉัน หอนั่ง หรือศาลาบาตร ตลอดจนใช้เป็นที่อยู่อาศัยได้ทั้งนั้น นอกจากนี้ยังมีพระเจดีย์ตั้งอยู่ทางด้านหลังของอาคารอันเป็นโบสถ์และวิหารอีกด้วย คุณลักษณะเช่นนี้ เป็นลักษณะของพุทธศิลปะในสมัยสุโขทัยเชียงแสนผสมกัน ซึ่งต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาประมาณปี พ . ศ . ๑๙๖๗ ได้นำเอาลักษณะดังกล่าวมา สร้างอุโบสถให้มีลักษณะใหญ่โต และใช้ประโยชน์ได้มากดังกล่าวข้างต้น
การสันนิษฐานของนักโบราณคดีผู้เชี่ยวชาญแห่งกรมศิลปากร ยังมีหลักฐานอื่นที่นำมาสนับสนุนอีกมากมาย อาทิ อิฐ กระเบื้อง ลวดลายเชิงชาย พระเครื่องที่ขุดพบ พัทธสีมาอุโบสถ ( ใบสีมา ) เศียรพระพรหมสี่หน้า ฯลฯ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นหลักฐานยืนยันได้ว่า วัดโพธิ์หอมนี้จะต้องเป็น วัดที่สำคัญและมีลักษณะใหญ่โตมาก่อน และจะต้องเป็นวัดที่สร้างโดยพระมหากษัตริย์เท่านั้น ลำพังประชาชนธรรมดาแล้วคง ไม่สามารถจะสร้างได้เช่นนี้ เพราะจากซากโบราณที่เหลืออยู่แสดงให้เห็นชัดว่า ศิลปะการสร้างนั้นจะต้องเป็นช่างหลวงจึงจะทำได้งดงามเช่นนี้ การสร้างก็ต้องใช้เวลานานและต้องสิ้นเปลืองเงินทองมาก ยากที่ประชาชนคนธรรมดาจะทำการ ก่อสร้างได้ นอกจากพระมหากษัตริย์ โดยเกณฑ์ช่างหลวงที่มีฝีมือในสมัยนั้น มาทำการก่อสร้าง ซึ่งจะเห็นได้ว่าศิลปะลวดลายของซากโบราณที่หลงเหลืออยู่ มีลวดลายที่งดงามและปราณีตมาก ตัวอย่างเช่น พระเศียรของพระพรหม เป็นสิ่งที่บ่งชัดว่าต้องเป็นฝีมือของช่างหลวงในสมัย ต้นกรุงศรีอยุธยา โดยเฉพาะ ลวดลายกระบังหน้าพระพรหมที่บัวพันยักษ์ เป็นเครื่องบอกชัดว่าต้องเป็นฝีมือ ของช่างหลวงในสมัยต้นกรุงศรีอยุธยาแน่นอน พระเศียรของ พระพรหมนี้มีขนาดใหญ่มากและเป็นเศียรพระพรหมที่ตั้งอยู่บนยอดมณฑป หรือปราสาท หรืออาจจะเป็นซุ้มประตูเรือนยอดที่มีเศียรพระพรหมทั้ง ๔ หน้า

วันพฤหัสบดีที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๐

วัดมหานาม







วัดมหานาม ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณเยื้องกับวัดไชโยวรวิหาร ลงไปทางทิศใต้เล็กน้อย มีเนื้อที่ตั้งวัดอยู่ประมาณ 30 ไร่เศษอยู่ในเขตตำบลไชยภูมิ อำเภอไชโย มีประชาชนจากเขตหมู่บ้านมาทำบุญ ทำกุศลที่วัดเป็นจำนวน 3 หมู่บ้านด้วยกัน เขตติดต่อท้องที่หมู่ 3 หมู่ 4 และหมู่ 8 มีประชาชนรวมประมาณ 700 คนเศษ วัดนี้สร้างมาตั้งแต่สมัยใดนั้น มิได้มีหลักฐานปรากฏชัด ทราบจากผู้หลักผู้ใหญ่ที่เกิดในสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์เล่าสืบ ๆ กันต่อ ๆ มาว่า “ วัดมหานาม “ นี้ นามเดิมเรียกกันว่าวัดอินทราราม ต่อมาได้มีพระภิกษุสงฆ์รูปหนึ่ง นามว่าพระมหาระนาม ได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดนี้ และได้ดำเนินการก่อสร้างกุฏิสงฆ์และศาลาบำเพ็ญบุญขึ้น พร้อมทั้งยังได้ชักชวนพระภิกษุจากอารามอื่นให้มาอยู่ ่จำพรรษาอยู่ที่นี่ ประกอบกับชาวบ้านได้ทำการอุปสมบทและอยู่จำพรรษาที่วัดนี้ ประชาขนได้รับความสะดวกสบายในการบำเพ็ญบุญ บำเพ็ญกุศล โดยไม่ต้องไปอาศัยวัดอื่น ๆ ซึ่งอยู่ห่างออกไปเป็นระยะทางไกลมาก จนชาวบ้านได้ร่วมกันขนานนามวัดเพิ่มเติมจากชื่อของเก่าเดิม เป็น “ วัดอินทรารามนามมหา” ต่อมาภายหลัง ชาวบ้านเห็นว่าสร้อยที่ต่อท้ายนามวัดใหม่นี้เรียกยาก และลำบากในการกล่าวจึงเปลี่ยนชื่อให้ใหม่ ให้สั้นและกระชับ โดยเรียกกันติดปากมาจนทุกวันนี้ว่า “ วัดมหานาม” ตามประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยา รัชสมัยของสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ราว พ.ศ. 2127 – 2128 มีเรื่องที่ได้รับการบันทึกไว้ว่า “ มีข้าศึกได้แก่ พระเจ้ากรุงเชียงใหม่ เป็นทัพหลวง มี สะเรนันทสู เป็นทัพหน้า ได้ยกกองทัพลงมาตั้งอยู่ที่บ้านบางแก้ว (อ.เมืองอ่างทอง จ.อ่างทอง) สมเด็จพระนเรศวรทรงทราบความ จึงรับสั่งให้สมเด็กพระเอกาทศรถ พระอนุชา ฯ เสด็จเป็นทัพหน้า ส่วนพระองค์ (สมเด็จพระนเรศวร) เป็นทัพหลวง ยกพลจากกรุงศรีอยุธยามาตั้งกำลังพลอยู่ที่บ้านป่าโมก แล้วแต่งทัพยกไปตีทัพของพระเจ้าเชียงใหม่ และทัพของสะเรนันทสูที่บ้านบางแก้ว จนกระทั่งทัพของข้าศึกถอยร่นไปถึงบ้านชะไว (ต.ชะไว อ.ไชโย)จนได้รับชัยชนะแก่ข้าศึกที่บ้านชะไวจนทัพของข้าศึกแตกกระจาย พ่ายแพ้หลบหนีไป สามารถฆ่าแม่ทัพของทัพข้าศึกได้ถึง 7 คนและสามารถยึดช้างได้ถึง 120 เชือก ม้า 100 ตัว เรือรบและเรือเสบียง ได้ถึง 400 ลำ ที่บ้านไชยภูมิ แล้วต่อมาสมเด็จพระนเรศวรทรงเสด็จยกกองทัพไล่ติดตามข้าศึก จนกระทั่งเดินทางมาถึงบ้านสระเกษทรงพักทัพ และทรงสรง พระวรกาย และ สระเกศาที่นั้น และทรงตั้งทัพพักแรมที่วัดยิงพรุ (ปัจจุบันเป็นวัดร้าง ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า วัดท้องครุ) ซึ่งอยู่เหนือบ้านสระเกษไปทางทิศเหนือราว ๆ 1 กิโลเมตรโดยประมาณ ทรงรับสั่งให้สมเด็จพระเอกาทศรถเฝ้าระวังทัพอยู่ ณ ที่นี้ ส่วน พระองค์ทรงเสด็จแยกไปตั้งค่ายอยู่เหนือจากบริเวณวัดยิงพรุไปทางทิศเหนือประมาณ1 กม. (ปัจจุบันนั้นก็คือที่ตั้งของวัดมหานาม)ครั้นเมื่อสมเด็จพระนเรศวรได้ทรงยกกองทัพกลับไปแล้ว ชาวบ้านแถว ๆ นั้น ได้ร่วมกันทำการจัดสร้างพระพุทธรูปปูนปั้นขึ้น 1 องค์ ตรงบริเวณที่สมเด็จพระนเรศวรทรงประทับแรมแทนสมเด็จพระนเรศวรเพื่อไว้สักการะบูชา ขนานนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “หลวงพ่อขาว” มาจนตราบเท่าทุกวันนี้ อีกประการหนึ่ง ที่เรียกว่าหลวงพ่อขาวนั้น ใช้เรียกแทนพระนามของสมเด็จพระนเรศวรขณะประทับแรมอยู่ ณ ที่นั้น ซึ่งในระยะเวลาที่เดือนหงายชาวบ้านกลับมองเห็นพระวรกายขององค์สมเด็จพระนเรศวรเป็นสีขาว จึงเรียกว่า “หลวงพ่อขาว” โดยถือนิมิตในการเห็นพระวรกายเป็นสีขาวในเวลากลางคืน
ต่อมา ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงเสด็จเพื่อไปรับช้างเผือกที่เชียงใหม่ ชื่อว่า “พลายพระยาปัจจะเวก” อันถือว่าเป็นช้างคู่บ้าน คู่เมืองในสมัยนั้นในเวลาที่ทรงเสด็จกลับได้ทรงประทับแรมค้างคืนอยู่ ณ บริเวณใต้ต้นมะม่วงกะร่อน พร้อมกับพลายพระยาปัจจะเวกด้วย ซึ่งเป็นบริเวณเดียวกันกับที่ประดิษฐานขององค์หลวงพ่อขาว ในระหว่างที่พรองค์ทรงเสด็จประทับค้างแรมอยู่ ณ บริเวณนั้นได้มีชาวบ้านมาเฝ้าชมพระบารมี และชื่นชมช้างคู่บุญบารมี เป็นจำนวนมาก พร้อมกับทั้งได้แสดงเพลงพื้นบ้านถวายให้ทอดพระเนตรด้วย ขณะที่ทรงประทับแรมอยู่นั้น ในเวลากลางคืน สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการสักการะองค์หลวงพ่อขาว และทรงตรัสชมว่า “หลวงพ่อขาวองค์นี้ ขาวดีมาก” สาเหตุที่ทรงตรัสชมเช่นนั้นคงจะเป็นเพราะว่าคืนเดือนหงาย แสงสว่างคงจะส่องต้ององค์หลวงพ่อขาวให้แลดูงามขึ้น ชาวบ้านจึงได้ถือเอานามนี้มาขนานนามองค์หลวงพ่อว่าหลวงพ่อขาว เรื่อยมาตราบเท่าทุกวันนี้ หลวงพ่อขาวนี้ นับได้ว่าเป็นพระพุทธรูปที่เก่าแก่และมีความศักดิ์สิทธิ์มากองค์หนึ่งของพื้นที่ มีประชาชนที่เคารพเลื่อมใสได้มาสักการะบูชา และกราบนมัสการกันมิได้ขาดตลอดทั้งที่ผู้มาทำพิธีแก้บนกันแทบจะทุกวัน จนทำให้หลวงพ่อมีชื่อเสียงโด่งดังไปหลายจังหวัด มีประชาชนหลั่งไหล มายังวัดมหานามเพื่อนมัสการหลวงพ่อกันมากขึ้นเป็นลำดับเลื่อยมาฯวัดมหานาม ได้จัดงานนมัสการปิดทองหลวงพ่อขาวขึ้นเป็นประจำทุกปี จะอยู่ในระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน
















วัดไชโยวรวิหาร

วัดไชโยวรวิหาร เป็นวัดสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยกรุงเก่า ตั้งอยู่ในตำบลไชโย อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทองบนฝั่งตะวันตก ของแม่น้ำเจ้าพระยา สุดเขตแดนเหนือของจังหวัดอ่างทอง ติดต่อกับตำบลพระงาม อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี พื้นที่เป็น รูปสี่เหลี่ยมจตุรัสด้านละ 5 เส้นเศษเล็กน้อย มีเนื้อที่ 25 ไร่ 3 วา แต่ละด้านมีเสาศิลาขนาดใหญ่ปักไว้เป็นเขตวัด ต่อมาสมเด็จ พุฒาจารย์ ( โต ) ซึ่งเรียกกันทั่วๆ ไปว่า “ สมเด็จโต ” และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งราชวงศ์จักรี ทรงเรียกว่า “ ขรัวโต ” ต่อมา เมื่อชาวบ้านได้รู้ว่า สมเด็จโตจะสร้างพระนั่งหน้าตักกว้างถึง 8 วา ในที่ที่พวกตนถางหาเงินนั้นก็พากันปิติยินดี แม้ว่าสมเด็จโตจะแจ้งให้ ้ทราบทั่วกันไปว่า ไม่ประสงค์ที่จะรบกวนชาวบ้าน เพราะท่านมีเงินที่จะสร้าง เพียงพออยู่แล้ว ก็ยังปรากฏว่าบรรดาผู้คนทั้งหลายแม้แต่พระบรมวงศานุวงก็พา กันร่วมบริจาคเงินทองร่วมด้วยเป็นอันมาก สมเด็จโตใช้เวลาเกือบสามปี พระพุทธรูปนั่งที่วัดไชโยจึงสำเร็จลง
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่5 ได้มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยารัตนบดินทร์ ให้ปฏิสังขรณ์วัดไชโยขึ้นใหม่หมดทั้งอาราม ในปีพุทธศักราช 2430 โดยมีการสร้างพระวิหารครอบองค์พระใหญ่ เสร็จสิ้นในปี 2437 รวมระยะเวลา 8 ปี แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ยกฐานะขึ้นเป็น พระอารามหลวงชนิดวรวิหารชั้นโท และ พระราชทานนามพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นใหม่ว่า “ พระมหาพุทธพิมพ์ ” และเรียกวัดไชโยว่า “ วัดไชโยวรวิหาร ” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบันได้เสร็จประพาส ณ วัดไชโยวรวิหาร เมื่อปีพุทธศักราช 2498 ซึ่งยังความปลื้มปิติเป็นล้นพ้นแก่ชาวเมืองอ่างทองเป็นที่ยิ่ง

ธงประจำจังหวัด



เป็นธง 2 สี ด้านบนสีเขียว ด้านล่างสีเหลือง มีตราประจำจังหวัดอ่างทองอยู่ตรงกลาง

ต้นไม้ประจำจังหวัด
ชื่อพรรณไม้ มะพลับ
ชื่อวิทยาศาสตร์ Diospyros malabarica

คำขวัญประจำจังหวัด
" พระสมเด็จเกษไชโย หลวงพ่อโตองค์ใหญ่วีรไทยใจกล้า
ตุ๊กตาชาววังโด่งดังจักสาน ถิ่นฐานทำกลอง เมืองสองพระนอน
"

ตราประจำจังหวัด


รูปรวงข้าวอยู่ในอ่าง
หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร และเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ
จังหวัดอ่างทอง ใช้อักษรย่อว่า "อท"

อาณาเขตและที่ตั้งของจังหวัดอ่างทอง


จังหวัดอ่างทองตั้งอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มภาคกลางของประเทศไทย พิกัดทางภูมิศาสตร์อยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ 14 องศา 35 ลิปดา 12 ฟิลิปดาเหนือ และเส้นแวงที่ 100 องศา 27 ลิปดา 27 ฟิลิปดาตะวันตก ห่างจากกรุงเทพมหานครมาตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 (สายเอเซีย) ระยะทางประมาณ 108 กิโลเมตร และเส้นทางเรือตามลำแม่น้ำเจ้าพระยาถึงตลาดท่าเตียน ระยะทางประมาณ 120 กิโลเมตร มีรูปร่างลักษณะคล้ายรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีส่วนกว้างตามแนว ทิศตะวันออกถึงทิศตะวันตก และส่วน ยาวตามแนวทิศเหนือถึงทิศใต้ใกล้เคียงกัน คือ ประมาณ 40 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมด 968,372 ตารางกิโลเมตร และมีอาณาเขตดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอค่ายบางระจัน อำเภอพรหมบุรี และอำเภอท่าช้าง จังหวัดสิงห์บุรี
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอผักไห่ และอำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอบางปะหัน อำเภอมหาราช และอำเภอบ้านแพรก จังหวัดพระนครศรีอยุธยาทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอเมืองสุพรรณบุรี อำเภอศรีประจัน อำเภอสามชุก และอำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี




ลักษณะภูมิประเทศ
จังหวัดอ่างทองมีลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นพื้นที่ราบลุ่ม ลักษณะคล้ายอ่าง ไม่มีภูเขา ไม่มีป่าไม้ ดินเป็นดินเหนียวปนทราย พื้นที่ส่วนมากเหมาะแก่การทำนาข้าว ทำไร่ และทำสวน มีแม่น้ำสำคัญไหลผ่าน 2 สาย คือ แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำน้อย โดยแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านจังหวัดอ่างทอง จากทิศเหนือไปทิศใต้ เป็นระยะทางยาวประมาณ 40 กิโลเมตร ไหลผ่านท้องที่อำเภอไชโย อำเภอเมืองอ่างทอง และอำเภอป่าโมก ต่อจากนั้นไหลเข้าสู่เขตท้องที่อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ส่วนแม่น้ำน้อยนั้น เป็นแม่น้ำทไหลแยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่อำเภอเมืองชัยนาท ไหลผ่าน ุจังหวัดชัยนาท จังหวัดสิงห์บุรี และผ่านอำเภอโพธิ์ทอง อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง ไปบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาอีกครั้งหนึ่งที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมระยะทางที่ไหลผ่านจังหวัดอ่างทอง ประมาณ 50 กิโลเมตร

ลักษณะภูมิอากาศ
เนื่องจากจังหวัดอ่างทองตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ร้อนชุ่มชื้น ดังนั้น ภูมิอากาศจึงเป็นแบบฝนเมืองร้อน โดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้มีอากาศหนาวเย็นและแห้งแล้ง และได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมรตะวันตกเฉียงใต้ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน ทำให้มีเมฆมากและฝนตกชุก ฤดูกาล แบ่งออกเป็น 3 ฤดู คือ
ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม - พฤษภาคม
ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน – ตุลาคม
ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน – กุมภาพันธ์

การคมนาคมขนส่ง
การคมนาคมขนส่งภายในพื้นที่จังหวัดอ่างทอง สามารถเดินทางได้ทั้งทางบก และทางน้ำ โดยใช้แม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อยเป็นเส้นทางเดินเรือ ประชาชนส่วนมากนิยมเดินทางและขนส่งสินค้าด้วยรถยนต์ ซึ่งการคมนาคมขนส่งแบ่งออกได้ดังนี้
การคมนาคมขนส่งจากตัวจังหวัดไปยังอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน สามารถเดินทางได้ด้วยรถยนต์โดยสารประจำทาง และรถยนต์ส่วนบุคคล
การคมนาคมขนส่งระหว่างจังหวัดต่างๆ สามารถเดินทางได้ด้วยรถยนต์โดยสารประจำทาง และรถยนต์ส่วนบุคคล โดยเฉพาะสายกรุงเทพมหานคร-อ่างทอง สามารถเดินทางได้สะดวกถึง 3 เส้นทาง
นอกจากนี้ยังมีรถยนต์โดยสารประจำทางวิ่งติดต่อระหว่างจังหวัดอ่างทองไปยังจังหวัดใกล้เคียง เช่น จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดสิงห์บุรี และจังหวัดลพบุรี

ข้อมูลจาก เว็บของจังหวัดอ่างทอง

ประวัติจังหวัดอ่างทอง


อ่างทองในอดีตนั้น นับว่ามีคนอาศัยอยู่มานานหลายร้อยปี เพราะท้องที่ของอ่างทองเป็นที่ราบลุ่ม ลักษณะคล้ายอ่าง ไม่มีภูเขาป่าและแร่ธาตุ ได้รับการหล่อเลี้ยงจากแม่น้ำ 2 สายคือ แม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อย ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ได้อาศัยทำการเพาะปลูก อุปโภคบริโภค และการคมนาคมตลอดมา





เมืองอ่างทอง ได้ชื่อนี้มาจากไหน มีการสันนิษฐานเป็น 3 นัย


นัยแรกเชื่อว่า คำว่า “อ่างทอง” น่าจะมาจากลักษณะทางกายภาพของพั้นที่นี้ คือเป็นที่ราบลุ่มเป็นแอ่งคล้ายอ่าง ซึ่งเต็มไปด้วยทุ่งนาที่ออกรวงเหลืองอร่ามเหมือนทอง จึงเป็นที่มาของชื่อจังหวัดอ่างทอง และดวงตราของจังหวัด เป็นรูปรวงข้าวสีทองอยู่ในอ่างน้ำ ซึ่งมีความหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหารและเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ


นัยที่สอง เชื่อว่าอ่างทอง น่าจะมาจากชื่อของหมู่บ้านเดิมที่เรียกว่า “บางคำทอง” ตามคำ สันนิษฐาน ของพระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) สมุหเทศาภิบาล มณฑลอยุธยา เมื่อครั้งที่กราบทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในคราวเสด็จประพาสลำแม่น้ำน้อย และลำแม่น้ำใหญ่ใน..พ.ศ.2459 ว่าชื่อของเมืองอ่างทองก็จะมาจากชื่อบางคำทอง ซึ่งแต่งตั้งครั้งกรุงเก่าว่าด้วยตามเสด็จพระราชดำเนินเมืองนครสวรรค์ ของสมเด็จ พระนารายณ์มหาราชจากกรุงเก่า “ลุถึงบางน้ำชื่อ คำทอง น้ำป่วนเป็นฟองคว่างคว้าง” และบางกระแสก็ว่าอาจเพี้ยนมาจากชื่อของแม่น้ำลำคลองในย่านนั้น ที่เคยมีชื่อว่า “ปากน้ำประคำทอง” ซึ่งเป็นทางแยกแม่น้ำหลังศาลากลางจังหวัด และส่วนในเข้าไปเรียกว่า “แม่น้ำสายทอง” ซึ่งปัจจุบันตื้นเขินใช้ไม่ได้แล้ว


นัยที่สาม เชื่อว่าชื่ออ่างทองน่าจะมาจากชื่อ บ้านอ่างทอง ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวไว้ในหนังสือชุมนุมพระนิพนธ์เรื่องสร้างเมืองไว้ตอนหนึ่งว่า“เมืองอ่างทองดูเหมือนจะตั้งเมื่อครั้งสมเด็จพระนเรศวร เดิมชื่อเมืองว่า วิเศษชัยชาญ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน้อย ที่ลงมาจากนครสวรรค์ อยู่มาแม่น้ำน้อยตื้นเขิน ฤดูแล้งใช้เรือไม่สะดวก ย้ายเมืองออกมาตั้งริมแม่น้ำพระยาที่บ้านอ่างทองจึงเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองอ่างทอง” ถึงแม้ว่าชื่อของจังหวัดอ่างทอง จะได้มาตามนัยใดก็ตาม ชื่ออ่างทองนี้เป็นชื่อที่เริ่มมาในสมัยกรุงธนบุรี หรือสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น คือ เมื่อประมาณ 200 ปีที่ผ่านมา ย้อนกลับไปในอดีต สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีนั้น อ่างทองเป็นที่รู้จักในนามของเมืองวิเศษชัยชาญ ดังนั้นการศึกษาความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของเมืองอ่างทองนั้น หมายถึงการศึกษาความเป็นมาของดินแดนแถบนี้ย้อนกลับไปกว่า 1 พันปี เป็นสมัยที่ชื่อเสียงของเมืองอ่างทองยังไม่ปรากฏ แต่มีหลักฐานแน่ชัดว่า มีดินแดนแถบนี้มานานแล้ว และอาจจะสรุปได้ว่าดินแดนนี้มีลักษณะเด่นชัดอย่างน้อย 2 ประการ คือ ความอุดมสมบูรณ์ที่เหมาะแก่การทำ เกษตรกรรม ทำให้มีมนุษย์ ตั้งหลักฐานอยู่กันมานานนับพัน ๆ ปี และเป็นดินแดนที่มีความสำคัญในแง่การ เป็นยุทธศาสตร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา


จังหวัดอ่างทองในสมัยทวาราวดี ได้มีผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นเมืองแล้ว แต่เป็นเมืองใหม่่ใหญ่โตนัก หลักฐานที่ยังเหลืออยู่ในปัจจุบันก็คือ คูเมือง ที่บ้านคูเมือง ตำบลห้วยไผ่ อำเภอแสวงหา ซึ่งนายบาสเซอลีเย นักโบราณคดี ชาวฝรั่งเศส และเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรได้สำรวจพบ สันนิษฐานว่าเป็นเมืองโบราณสมัยทวาราวดี ปัจจุบันนี้บ้านคูเมืองอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอแสวงหา ไปทางทิศเหนือ 4 กิโลเมตรในสมัยสุโขทัย ก็เข้าใจว่าผู้เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยเช่นกัน และดินแดนอ่างทองได้รับอิทธิพลจากสุโขทัยด้วย โดยการสังเกตจากลักษณะของพระพุทธรูปสำคัญในท้องถิ่นที่อ่างทองมีลักษณะเป็นแบบสุโขทัยหลายองค์ เช่น พระพุทธไสยาสน์วัดขุนอินทประมูล อำเภอโพธิ์ทอง และพระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมกวรวิหาร อำเภอป่าโมก เป็นต้น

ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาระยะต้น ๆ สันนิษฐานว่าอ่างทอง คงเป็นชานเมืองของกรุงศรีอยุธยา เพิ่งจะยกฐานะเป็นเมืองมีชื่อว่า “แขวงเมืองวิเศษชัยชาญ” เมื่อประมาณ พ.ศ.2127 โดยในพระราชพงศาวดารได้กล่าวถึงชื่อเมืองวิเศษชัยชาญเป็นครั้งแรกว่า สมเด็จพระนเรศวรเมื่อครั้งยังทราบเป็นมหาอุปราชและสมเด็จพระเอกาทศรถ ได้เสด็จยกกองทับไปรบกับพระยาพระสิม ที่เมืองสุพรรณบุรี พระองค์ได้ทรงเสด็จโดยทางเรือจากกรุงศรีอยุธยา ไปทำพิธีเหยียบชิงชัยภูมิตัดไม้ข่มนาม ที่ตำบลลุมพลี พระองค์ได้ทรงเสด็จไปประทับที่แขวงเมืองวิเศษชัยชาญอันเป็นที่ชุมพลจึงสันนิษฐานว่า เมืองวิเศษชัยชาญ ได้ตั้งเมืองในแผ่นดินพระมหาธรรมราชา ตัวเมืองวิเศษชัยชาญสมัยนั้นตั้งอยู่ทางลำแม่น้ำน้อย ฝั่งตะวันออก หมู่บ้านตรงนั้นปัจจุบันยังเรียกว่า “บ้านจวน” แสดงว่าเป็นที่ตั้งจวนเจ้าเมืองเดิม ต่อมา สภาพพื้นที่และกระแสน้ำในแควน้ำน้อยเปลี่ยนแปลงไป การคมนาคมไปมาระหว่างแม่น้ำน้อย กับแม่น้ำใหญ่ คือแม่น้ำเจ้าพระยา เดินทางติดต่อไม่สะดวก จึงย้ายที่ตั้งเมืองไปอยู่ที่ตำบลบ้านแห ตรงวัดไชยสงคราม (วัดกระเจา) ฝั่งขวาหรือฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมกับขนานนามให้เป็นสิริมงคลแก่เมืองใหม่ว่า “เมืองอ่างทอง” ส่วนเมืองวิเศษชัยชาญยังคงเป็นเมืองอยู่ตลอดมาจนถึง พ.ศ. 2439 จึงลดลงเป็นอำเภอ เรียกว่า อำเภอไผ่จำศีล ภายหลังจึงเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอวิเศษชัยชาญ จนถึงปัจจุบันกาลล่วงมาถึงพ.ศ. 2356 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้โปรดให้พระยาภูธร สมุหนายกไปเป็นแม่กองทำการเปิดทำนบกั้นน้ำ ที่หน้าเมืองอ่างทอง เพื่อให้น้ำไหลไปทางคลองบางแก้วแต่ไม่สำเร็จ จึงย้ายเมืองอ่างทองไปตั้งที่ปากคลองบางแก้ว ตำบลบางแก้ว ท้องที่อำเภอเมืองอ่างทองฝั่งซ้ายของแม่น้ำพระยา จนถึงปัจจุบันนี้


เมืองอ่างทองมีท้องที่ต่อเนื่องกับกรุงศรีอยุธยา เสมือนเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ชานเมืองหลวง จึงมีประวัติศาสตร์เกี่ยวเนื่องกันหลายตอน เฉพาะที่สำคัญ ๆ มีดังนี้ ราว พ.ศ. 2122 ญาณพิเชียรมาซ่อมสุมคนในตำบลยี่ล้น ขุนศรีมงคลแขวง ส่งข่าวกบฎนั้นมาถวายสมเด็จพระมหาธรรมราชาโปรดให้พระยาจักรียกกำลังไปปราบปราม ตั้งทัพในตำบลมหาดไทย ญาณพิเชียรและพรรคพวกก็เข้าสู้รบกับพระยาจักรี เจ้าพระยาจักรีเสียชีวิตในการสู้รบ พวกชาวบ้านก็เข้าเป็นพวกญาณพิเชียร ญาณพิเชียรติดเอาเมืองลพบุรี ก็ยกกำลังไปปล้นเมืองลพบุรี จึงเกิดรบกับพระยาสีหราชเดโช ญาณพิเชียรถูกยิงตาย พรรคพวกกบฏก็หนีกระจัดกระจายไป กบฏญาณพิเชียรนับว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญมากเหตุการณ์หนึ่ง ที่ชาวบ้านยี่ล้นและชาวบ้านมหาดไทย แขวงเมืองวิเศษชัยชาญเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย พ.ศ. 2128 พระเจ้าเชียงใหม่ยกกองทัพมาตั้งที่บ้านสระเกศ ท้องที่ตำบลไชยภูมิ อำเภอไชโย สมเด็จพระนเรศวรกับพระเอกาทศรถยกกองทัพไปถึงตำบลป่าโมก ก็พบทหารพม่าซึ่งลงมาเที่ยวรังแกราษฎรทางเมืองวิเศษชัยชาญ จึงได้เข้าโจมตีทหารพม่าล่าถอยไป พระเจ้าเชียงใหม่จึงได้จัดกองทัพยกลงมา สมเด็จพระนเรศวรจึงดำรัสสั่งให้พระราชมนูคุมกองทัพขึ้นตระเวนดูก่อน กองทัพระราชมนูไปปะทะกับกองทัพพม่าที่บ้านบางแก้ว สมเด็จพระนเรศวรเสด็จขึ้นไปถึงบ้านแห จึงมีดำรัสให้ข้าหลวงขึ้นไปสั่งพระราชมนูให้ทำเป็นถอยทัพกลับมา แล้วพระองค์ก็โอบล้อมรุกไล่ตีทัพพม่าแตกทั้งทัพหน้าและทัพหลวง จนถึงที่ตั้งทัพพระเจ้าเชียงใหม่ที่บ้านสระเกศ กองทัพของพระเจ้าเชียงใหม่จึงแตกพ่ายกลับไป

พ.ศ. 2130 พระเจ้ากรุงหงสาวดียกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยา ทหารไทยได้เอาปืนลงเรือสำเภา ขึ้นไประดมยิงค่ายหลวงพระเจ้าหงสาวดี จนพระเจ้าหงสาวดีทนไม่ไหวต้องถอยทัพหลวงกลับขึ้นไปตั้งป่าโมก สมเด็จพระนเรศวรเสด็จโดยขบวนทัพเรือตามตีกองทัพหลวงของพระเจ้าหงสาวดีไปจนถึงป่าโมก จนพม่าแตกพ่ายถอยทัพกลับไป

พ.ศ. 2135 สมเด็จพระนเรศวรกับพระเอกาทศรถยกทัพจากรุงศรีอยุธยาไปตั้งที่ทุ่งป่าโมกแล้วยกทัพหลวงไปเมืองสุพรรณบุรีทางบ้านสามโก้ และทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาที่ตำบลตระพังตรุ หนองสาหร่าย อำเภอดอนเจดีย์ เมืองสุพรรณบุรี จนมีชัยชนะยุทธหัตถีในครั้งนั้น

พ.ศ. 2147 สมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถยกกองทัพไปตีกรุงอังวะเสด็จเข้าพักพล ที่ตำบลป่าโมก แล้วเสด็จไปทางชลมารค ขึ้นเหยียบชัยภูมิตำบลเอกราช อำเภอป่าโมก ตัดไม้ข่มนามตามพระราชพิธีของพรามหมณ์แล้วยกทัพไป แต่สวรรคตเสียที่เมืองหางหรือเมืองห้างหลวง สมเด็จพระเอกาทศรถนำพระบรมศพกลับกรุงพร้อมด้วยพระเกียรติและในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระศรีสรรเพชญ์ที่ 8 (พระเจ้าเสือ) พระองค์ได้ปลอมพระองค์เป็นสามัญชน ไปในงานฉลองพระอาราม ได้ทรงชกมวยได้ชัยชนะถึง 2 ครั้ง สถานที่ทรงเสด็จไปก็คือ บ้านพระจันตชนบท แขวงเมืองวิเศษชัยชาญ เชื่อกันว่างานฉลองวัดที่เสร็จไปนั้นอาจเป็นวัดโพธิ์ถนน หรือวัดถนน ซึ่งเป็นวัดร้าง อยู่ในตำบลตลาดกรวด (อำเภอเมืองอ่างทอง) นั่นเอง ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าดินแดนของอ่างทองยังคงความสำคัญต่อเมืองหลวง คือ กรุงศรีอยุธยา เมื่อมีงานนักขัตฤกษ์ของสามัญชนที่เลื่องลือเข้าไปถึงพระราชวังในเมืองหลวง แม้แต่พระมหากษัตริย์ก็ทรงสนพระทัยที่จะทอดพระเนตรและทรงเข้าร่วมด้วยกันอย่างสามัญ

พ.ศ. 2269 ในสมัยแผ่นดินพระเจ้าท้ายสระ พระองค์ได้เสด็จไปควบคุมชลอพระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมก เพราะปรากฏว่าแม่น้ำเจ้าพระยาตรงหน้าวัดป่าโมก น้ำเซาะกัดตลิ่งจนทำให้พระวิหารพระพุทธไสยาสน์อาจพังลงได้จึงทรงรับสั่งให้ทำการชลอพระพุทธไสยาสน์เข้าไปประดิษฐานห่างฝั่งออกไป 150 เมตร กินเวลาทั้งหมดกว่า 5 เดือนเนื่องจากเมืองอ่างทองเคยเป็นยุทธภูมิระหว่างทหารไทยกับทหารพม่าหลายครั้งจึงมีบรรพบุรุษของเมืองอ่างทองได้สร้างวีรกรรมอันกล้าหาญในการรบกับพม่าหลายท่าน เช่น นายแท่นนายโชติ นายอิน นายเมือง ทั้งสี่ท่านเป็นชาวบ้านสีบัวทอง (ตำบลสีบัวทอง อำเภอแสวงหา ในปัจจุบัน) และมีนายดอก ชาวบ้านกรับ และนายทองแก้ว ชาวบ้านโพธิ์ทะเล ทั้งสองท่านเป็นชาวเมืองวิเศษชัยชาญ ได้ร่วมกับชาวไทยอีก 400 คนเศษ สู้รบกับพม่าอยู่ที่ค่ายบางระจันซึ่งสมัยนั้นอยู่ในแขวงเมืองวิเศษชัยชาญและสนามรบ ส่วนใหญ่อยู่ในท้องที่อำเภอแสวงหา วีรกรรมอันกล้าหาญชาญชัยของนักรบไทยค่ายบางระจันสมัยนั้น เป็นที่ภาคภูมิใจและประทับอยู่ในความทรงจำของคนไทยทุกคนตลอดมา ประชาชนชาวเมืองอ่างทอง จึงพร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์ เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่นายดอก และนายทองแก้ว ไว้ที่บริเวณวัดวิเศษชัยชาญอำเภอวิเศษชัยชาญ โดยที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมารเสด็จพระราชดำเนินมาทรงกระทำพิธีเปิดอนุสาวรีย์เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2520 ดังนั้นในวันที่ 25 มีนาคมของทุกปี ชาวเมืองอ่างทอง จึงได้กระทำพิธีวางมาลาสักการะอนุสาวรีย์นายดอก นายทองแก้ว เพื่อเป็นการระลึกถึงคุณความดี ในวีรกรรมความกล้าหาญของท่านเป็นประจำทุกปี