วันพฤหัสบดีที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๐

อาณาเขตและที่ตั้งของจังหวัดอ่างทอง


จังหวัดอ่างทองตั้งอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มภาคกลางของประเทศไทย พิกัดทางภูมิศาสตร์อยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ 14 องศา 35 ลิปดา 12 ฟิลิปดาเหนือ และเส้นแวงที่ 100 องศา 27 ลิปดา 27 ฟิลิปดาตะวันตก ห่างจากกรุงเทพมหานครมาตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 (สายเอเซีย) ระยะทางประมาณ 108 กิโลเมตร และเส้นทางเรือตามลำแม่น้ำเจ้าพระยาถึงตลาดท่าเตียน ระยะทางประมาณ 120 กิโลเมตร มีรูปร่างลักษณะคล้ายรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีส่วนกว้างตามแนว ทิศตะวันออกถึงทิศตะวันตก และส่วน ยาวตามแนวทิศเหนือถึงทิศใต้ใกล้เคียงกัน คือ ประมาณ 40 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมด 968,372 ตารางกิโลเมตร และมีอาณาเขตดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอค่ายบางระจัน อำเภอพรหมบุรี และอำเภอท่าช้าง จังหวัดสิงห์บุรี
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอผักไห่ และอำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอบางปะหัน อำเภอมหาราช และอำเภอบ้านแพรก จังหวัดพระนครศรีอยุธยาทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอเมืองสุพรรณบุรี อำเภอศรีประจัน อำเภอสามชุก และอำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี




ลักษณะภูมิประเทศ
จังหวัดอ่างทองมีลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นพื้นที่ราบลุ่ม ลักษณะคล้ายอ่าง ไม่มีภูเขา ไม่มีป่าไม้ ดินเป็นดินเหนียวปนทราย พื้นที่ส่วนมากเหมาะแก่การทำนาข้าว ทำไร่ และทำสวน มีแม่น้ำสำคัญไหลผ่าน 2 สาย คือ แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำน้อย โดยแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านจังหวัดอ่างทอง จากทิศเหนือไปทิศใต้ เป็นระยะทางยาวประมาณ 40 กิโลเมตร ไหลผ่านท้องที่อำเภอไชโย อำเภอเมืองอ่างทอง และอำเภอป่าโมก ต่อจากนั้นไหลเข้าสู่เขตท้องที่อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ส่วนแม่น้ำน้อยนั้น เป็นแม่น้ำทไหลแยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่อำเภอเมืองชัยนาท ไหลผ่าน ุจังหวัดชัยนาท จังหวัดสิงห์บุรี และผ่านอำเภอโพธิ์ทอง อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง ไปบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาอีกครั้งหนึ่งที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมระยะทางที่ไหลผ่านจังหวัดอ่างทอง ประมาณ 50 กิโลเมตร

ลักษณะภูมิอากาศ
เนื่องจากจังหวัดอ่างทองตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ร้อนชุ่มชื้น ดังนั้น ภูมิอากาศจึงเป็นแบบฝนเมืองร้อน โดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้มีอากาศหนาวเย็นและแห้งแล้ง และได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมรตะวันตกเฉียงใต้ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน ทำให้มีเมฆมากและฝนตกชุก ฤดูกาล แบ่งออกเป็น 3 ฤดู คือ
ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม - พฤษภาคม
ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน – ตุลาคม
ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน – กุมภาพันธ์

การคมนาคมขนส่ง
การคมนาคมขนส่งภายในพื้นที่จังหวัดอ่างทอง สามารถเดินทางได้ทั้งทางบก และทางน้ำ โดยใช้แม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อยเป็นเส้นทางเดินเรือ ประชาชนส่วนมากนิยมเดินทางและขนส่งสินค้าด้วยรถยนต์ ซึ่งการคมนาคมขนส่งแบ่งออกได้ดังนี้
การคมนาคมขนส่งจากตัวจังหวัดไปยังอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน สามารถเดินทางได้ด้วยรถยนต์โดยสารประจำทาง และรถยนต์ส่วนบุคคล
การคมนาคมขนส่งระหว่างจังหวัดต่างๆ สามารถเดินทางได้ด้วยรถยนต์โดยสารประจำทาง และรถยนต์ส่วนบุคคล โดยเฉพาะสายกรุงเทพมหานคร-อ่างทอง สามารถเดินทางได้สะดวกถึง 3 เส้นทาง
นอกจากนี้ยังมีรถยนต์โดยสารประจำทางวิ่งติดต่อระหว่างจังหวัดอ่างทองไปยังจังหวัดใกล้เคียง เช่น จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดสิงห์บุรี และจังหวัดลพบุรี

ข้อมูลจาก เว็บของจังหวัดอ่างทอง

0 ความคิดเห็น: